ภาวะหูตึงในผู้สูงอายุ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

การสูญเสียการได้ยินเป็นอีกหนึ่งปัญหาของวัยผู้สูงอายุ เนื่องจากหูชั้นในเกิดการเสื่อมของการได้ยินเพิ่มขึ้นตามอายุ แม้ว่าอาการหูตึงในผู้สูงอายุจะไม่เป็นโรคร้ายแรงอันตราย แต่ด้วยเป็นภาวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้สูงอายุเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลงโดยไม่รู้ตัว เกิดปัญหาระหว่างผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวกับผู้สูงอายุได้

หากมีอาการรุนแรง นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว การไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างเป็นปกติยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจได้อีกด้วย ฉะนั้น เมื่อพบว่าผู้สูงอายุมีอาการได้ยินไม่ชัด ได้ยินไม่ครบทั้งประโยค ขอให้พูดซ้ำหลายๆ ครั้ง ดูโทรทัศน์เสียงดังกว่าปกติ พูดเสียงดังกว่าปกติ อย่าชะล่าใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจการได้ยิน สาเหตุหูอื้อหรือหูตึงในผู้สูงอายุเกิดจากการเสื่อมและตายของเซลล์ขนรับเสียงในหูชั้นใน รวมถึงประสาทบริเวณหูชั้นในค่อยๆ สึกกร่อนหรือฉีกขาดไป ส่งผลให้เมื่ออายุมากขึ้นจะไม่ได้ยินช่วงเสียงแหลมความถี่สูง จากนั้นความเสื่อมจะค่อยๆ ลามไปถึงช่วงความถี่กลางซึ่งเป็นระดับของเสียงพูด จึงทำให้ผู้สูงอายุเริ่มฟังไม่ชัดเจน โดยเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของความบกพร่องของการได้ยิน เช่น การรับประทานยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้ประสาทหูเสื่อมเร็วขึ้นได้ การเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือด โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น

Scroll to Top